ลอยกระทงลำพูน ประชาชนและนักท่องเที่ยวล้นหลาม ต่างร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้คงอยู่ โดยกระทงที่นำมาลอยนั้นต่างทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติ

 ที่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีลอยกระทง จังหวัดลำพูน 2563  พร้อมด้วย นางปนัดดา เนาวรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมในพิธีเปิดงาน เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ และเพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่สืบไป


                บรรยากาศภายในงาน มีประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและนักท่องเที่ยว ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คู่รักวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน ได้ออกมาร่วมงานและร่วมลอยกระทงในค่ำคืนนี้เป็นจำนวนมาก โดยกระทงที่นำมาลอยนั้นต่างทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ และแหล่งน้ำ คูคลอง พร้อมทั้งรับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม จำนวน 2 ชุด จากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองลำพูน และร่วมชมการแสดงแสงและเสียงในงาน River Festival Lamphun สายน้ำแห่งวัฒนธรรม ครั้งที่ 2 


รื่นเริง แสงศิลป์ สืบสานเทศกาลโคมลำพูน งานประจำปีริมฝั่งแม่น้ำกวง ณ ริมฝั่งแม่น้ำกวงตั้งแต่ประตูท่านาง ถึง สะพานท่าสิงห์ขัวมุง ร่วมกิจกรรมอีกมากมาย อาทิ  River of Life  ชมนิทรรศการ ภาพถ่ายย้อนอดีตชีวิตของลำพูนในฤดูน้ำหลากพบกับผลงานศิลปะ River Art & Craft Market งานฝีมือของนักออกแบบท้องถิ่น งานฝีมือจากชุมชน และ ลิ้มลองอาหารหลากหลายจากเชฟและผู้ประกอบการในลำพูน, Chang Lighting Paviion  จุดชมวิว, สุดยอดอาหารเมืองลำพูน รสชาติอาหารเหนือรุ่นใหม่จากเชฟรุ่นใหม่ตลาดนัดชุมชน สินค้าโอทอปจังหวัดลำพูน อาทิ ผ้าฝ้าย ผ้ายกดอก และ ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป เกษตรอินทรีย์จากกลุ่ม Young Smart Farmers เครือข่ายสินค้าโอทอปลำพูน



        สำหรับลอยกระทง เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆ กัน โดยในปีนี้ วันลอยกระทง ตรงกับ วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563 ประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น 


  ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ก็มีการลอยกระทงคล้ายๆ กับประเทศไทยเช่นกัน แต่จะต่างกันบ้างในเรื่องของรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในประเทศไทยแต่ละพื้นที่เอง การลอยกระทง ก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน เช่น ลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา 

      ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น