นักศึกษามหาลัยราชภัฏ ร่วมกับชาวบ้านทุกผางประทีปล้านนา นับแสนดวง

นักศึกษามหาลัยราชภัฏ ร่วมกับชาวบ้านทุกผางประทีปล้านนา นับแสนดวง เตรียมจุดรอบเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นพุทธบูชาในงานประเพณียี่เป็งล้านนา


เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 6 พ.ย. 62 ที่พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ให้การต้อนรับอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กว่า 30 คน ที่ได้เดินทางมาร่วมทำกิจกรรมทำผางประทีป หรือผางประตี๊ด แบบล้านนา




เพื่อเตรียมนำไปจุดเป็นพุทธบูชารอบเมืองเชียงใหม่ จำนวนมากกว่า 100,000 ชิ้น โดยมีการทำทั้งแบบขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้จุดผางประทีปในงานประเพณีลอยกระทง หรือยี่เป็งเชียงใหม่ ที่มีการจัดขึ้นในห้วงระหว่างวันที่ 9 - 12 พ.ย. 62


นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ประเพณีดั้งเดิมของชาวเชียงใหม่ วัฒนธรรมล้านนาในอดีต เริ่มสูญหาย การทำกิจกรรม "ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้าฮักษาเมือง" ปีนี้ทำเป็นปีที่ 8 แล้ว 


ซึ่งความเชื่อดั้งเดิมนั้นการจุดผางประตี๊ด หรือผางประทีป เป็นการจุดเพื่อพุทธบูชา และชาวบ้านก็จะจุดบริเวณริมรั้วบ้าน หน้าบ้าน บ่อน้ำ ในห้องครัว บันไดบ้าน รวมถึงจุดตามวัดต่างๆ ในห้วงเทศกาลลอยกระทง


ในวันนี้ก็ได้ขอความร่วมมือทางอาจารย์นำคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มาร่วมทำผางประตี๊ด เพื่อจะนำไปจุดเป็นพุทธบูชา โดยแบ่งเป็นผางใหญ่ จำนวน 12,000 อัน และผางประทีปอันเล็ก ทั้งที่ชาวบ้าน และกลุ่มนักศึกษา รวมถึงประชาชนนำมารวมกัน มากกว่า 100,000 ชิ้น


โดยจะทำกิจกรรมในช่วงเย็นวันที่ 9 พ.ย. 62 ตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป โดยจะเริ่มกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็จะมีการจุดพร้อมกันรอบคูเมืองเชียงใหม่


นางเสาวคนธ์ กล่าวว่า อยากชักชวนชาวเชียงใหม่ ให้มาร่วมกันจุดผางประตี๊ด ที่บ้านตนเอง รวมถึงออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่ออนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมล้านนาแต่ดั้งเดิม 


ส่วนการปล่อยโคมนั้น ในอดีตก็จะปล่อยกันวันเดียว และปล่อยกันที่วัด ตอนนี้วิถีชีวิต วัฒนธรรมเปลี่ยนไป ใครอยากปล่อยตอนไหน ที่ไหนก็ปล่อย เมื่อปล่อยไปแล้วก็บังคับทิศทางไม่ได้ หากไปตกลงบ้านใคร สถานที่ใดก็อาจเกิดอันตรายได้ แต่การจุดผางประตี๊ด นอกจากจะเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แล้วยังอนุรักษ์วิถีล้านนาดั้งเดิมอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น