ทุ่งนาข้าว 7 สี นักท่องเที่ยวตื่นตาจุดเช็คอินแห่งใหม่ที่ไม่ใช่ทุ่งดอกไม้
นักท่องเที่ยวตื่นตาต้นข้าว 7 สี หนุ่มวัย 35 ปี พลิกผืนนาพ่อแม่ปลูกข้าวแปลกพันธุ์สรรพสี ให้ได้ข้าวเพื่อบริโภค กระตุ้นการท่องเที่ยว และให้เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร
ที่จังหวัดเชียงใหม่บรรดานักท่องเที่ยวหลากหลายวัยหลั่งไหลเข้าเที่ยวชมนาข้าว 7 สี ภายในแหล่งท่องเที่ยว Rainbow Rice บ้านซาง ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นาข้าวแห่งนี้มีหลากหลายสีสันน่ามอง หากมองไกลๆ อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นไม้หลากหลายสี แต่เมื่อมามองใกล้ๆ จะพบรวงข้าวที่ออกรวงอยู่อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวต่างพากันเดินถ่ายภาพตามมุมต่างๆและเซลฟี่กับนาข้าวหลากสีสุดฟินในบรรยากาศทุ่งนาที่สวยงามสบายตาท่ามกลางสายลมที่พัดเอากลิ่นไอของธรรมชาติของท้องทุ่งโฉยมาอยู่ตลอดเวลา
ด้านว่าที่ ร.ต.ธเนศ แซวหลี วัย 35 ปี นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ฝ่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน ศูนย์ปฏิบัติการโครงการหลวงภาคเหนือ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พ่อแม่ของตนมีที่นาอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาก็คิดว่าเกษตรกรที่ผ่านมาปลูกข้าวและราคาข้าวตนคิดว่าจะปลูกข้าวอย่างไรให้มีความโดดเด่นขึ้นมา ก็เลยเป็นที่มาของข้าวสรรพสี 7 สีนี้ ซึ่งได้ครับความอนุเคราะห์จาก ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อนุเคราะห์เม็ดพันธุ์ข้าวสรรพสี จำนวน 5 เบอร์คือ 01- 05 และอีกท่านคือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา มหาธีรานนท์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุเคราะห์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินดิกา และข้าวสายพันธุ์ไทย รวมทั้งหมด 7 สี ซึ่งวัตถุประสงค์ของการปลูกข้าวสรรพสี ตอนแรกนั้นเหมือนเป็นการวิจัยว่าการนำพันธุ์ข้าวสรรพสีนี้มาปลูกในพื้นที่อากาศทางภาคเหนือที่มีอากาศเย็นแบบนี้ จะเป็นอย่างไร และผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ ได้ข้าวเพื่อบริโภค
โดยนำข้าวที่ปลูกในพื้นที่จำนวน 3 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นข้าวสรรพสี จำนวน 2 งาน ที่เหลืออีก 3 ไร่ เป็นข้าวเหนียวสันป่าตอง นำมาบริโภคได้ อย่างที่สองก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และอย่างที่สาม เพื่อการท่องเที่ยวทางการเกษตร และการเพิ่มมูลค่าให้กับใบข้าว เช่นการนำมาทำชา หรือการแปรรูปด้านอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาใบข้าวจะถูกตัดและเผาทำลายทิ้ง ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ หรือบางคนก็นำไปทำเป็นปุ๋ย จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอย่างที่สามที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับใบข้าวสรรพสีนี้
อย่างไรก็ตามในช่วงแรกที่ปลูกก็มีชาวบ้านตกใจว่าเราปลูกอะไร เป็นต้นข้าวจริงหรือไม่ แล้วปลูกจะได้ผลผลิตจริงไหม พอเราปลูกและมีข้าว มีคนเข้ามาเที่ยวชาวบ้านก็ให้ความสนใจเข้ามาสอบถามกันมากขึ้นว่าไปเอาพันธุ์ข้าวมาจากไหน ตั้งแต่ปลูกข้าวมา 3 เดือน มีถ่ายภาพลงโซเชียล ก็ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมาก ถือว่าเป็นทางรอด ทางเลือกอีกอย่างหนึ่งให้กับเกษตรกร ในสภาวะเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน และช่วงนี้ยังอยู่ในรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และแนะนำให้นักท่องเที่ยวสวมแมสในช่วงของการท่องเที่ยวนี้ด้วย
Post a Comment