2 ปรากฏการณ์ในวันเดียวชมสุริยุปราคาและวันครีษมายัน คึกคักผู้ปกครองพาบุตรหลานชม​

ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมบรรดาน้องๆนักเรียนนักศึกษาร่วมถึงประชาชนนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้ปกครองต่างพาบุตรหลานจำนวนมากเข้าร่วมชม 2 ปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” แล้วยังเป็นวัน “ครีษมายัน” เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูร้อนของ ประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้ 

หากพลาดชมปรากฎการณ์ "สุริยุปราคาบางส่วน" ต้องรออีก 7 ปี ถึงจะได้ชมอีกครั้งแต่หากจะรอให้เหตุการณ์ทั้งสองปรากฏพร้อมกันแบบนี้คาดว่าอาจต้องรออีก 19 ปี 





โดยทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยังได้เตรียมอุปกรณ์และกล้องดูดาวหรือกล้องโทรทรรศน์ไว้และยังมีเจ้าหน้าที่ไว้ค่อยแนะนำถึงการดูสุริยุปราคาแบบปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อดวงตาอีกด้วย 

สำหรับบรรยากาศไปเป็นความคึกคักน้องหนูๆต่างพากันตื่นเต้นกับกิจกรรมที่ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้จัดเตรียมไว้กันอย่างสนุกสนาน  

 
นอกจากนี้แล้วทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติคุมเข้มในมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19 ในรูปแบบ new normal โดยได้ติดตั้งกล้องกล้องโทรทรรศน์เว้นระยะห่างกันและยังได้จัดตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมงานและตั้งเจลล้างมือไว้ให้พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมงานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยร่วมถึงสแกนไทยชนะด้วย




ทั้งนี้ทางด้าน ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  กล่าวว่า วันนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” เหนือฟ้าเมืองไทย ช่วงเวลาประมาณ 13.00 - 16.10 น. สังเกตได้ทั่วประเทศ ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. และวันนี้ยังตรงกับ “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี 

ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05.51 น.  ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที 

ส่งผลให้เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว  โดยกลางวัน กลางคืน เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง 

ในขณะเดียวกันโลกก็     โคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณต่างๆของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน และเกิดเป็นฤดูกาล ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น - ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

ในอดีตที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา มาแล้วมากมายหลายครั้ง นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา ได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้อมูลแม่นยำเป็นระดับวินาที  (อ้างอิง http://eclipsewise.com) เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ และอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าศึกษาติดตาม เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ เช่น ดาวเคียงเดือน ดาวเคราะห์ชุมนุม ดาวเคราะห์ใกล้โลก เป็นต้น การสัมผัสประสบการณ์ตรงในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่างๆ  นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลูกฝังกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนอีกด้วย 
ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง


ไม่มีความคิดเห็น