ชลประทานระเบิดอุโมงค์น้ำทะลุหากัน 2 ฝั่งสำเร็จแล้ว โครงการคืบหน้าไปกว่า 40% แล้ว



ที่บริเวณหน้าอุโมงค์ส่งน้ำหน้าประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ วันที่ 23 ตุลาคม 2562 นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 หรือ ผสญ.1 เป็นประธานกดจุดระเบิดการก่อสร้างอุโมงค์แบบขุดเจาะระเบิด ช่วงที่ 1 ปตร.แม่ตะมานถึงอุโมงค์เข้า-ออกที่ 1 เพื่อเปิดให้อุโมงค์ที่ขุดเจาะมาทั้ง 2 ฝากเชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ในช่วงแรกของสัญญาที่ 1 ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งมี บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง


นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 หรือ ผสญ.1 กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเกิดจากความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนแม่กวงฯ ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น สืบเนื่องความเจริญเติบโตของเมืองจึงมีแนวคิดในการที่จะเพิ่มปริมาณน้ำโดยใช้แนวคิดที่ว่า “ดึงน้ำมากมาช่วยบริเวณที่น้ำน้อย” โดยการก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นโครงการคือ บริเวณประตูระบายน้ำแม่ตะมาน หรือ ปตร.แม่ตะมาน ซึ่งมีการดำเนินการก่อสร้างแล้วผลงานคืบหน้ากว่า 30 เปอร์เซ็นต์ 



โดยจะนำน้ำจาก ปตร.แม่ตะมานไปตามอุโมงค์น้ำโดยจะนำไปพักที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ความยาวอุโมงค์ราว 26.000 กิโลเมตร ซึ่งจะได้น้ำต้นทุนที่นำไปพักราว 123 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นจะมีการก่อสร้างอุโมงค์อีกสายหนึ่งจากเขื่อนแม่งัดฯ ไปยังเขื่อนแม่กวงฯ ระยะทางราว 23.000 กิโลเมตร ช่วงนี้จะได้น้ำเพิ่มเติมอีกราว 47 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่เขื่อนแม่กวงฯ จะได้เพิ่มในแต่ละปีราว 140 ล้าน ลบ.ม.



“ภาพรวมของการก่อสร้างที่โครงการ ณ ปัจจุบันนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปราว 40 เปอร์เซ็นต์ ยังมีความล่าช้าอยู่บ้างในบางจุด แต่ ณ ช่วงแรกของการก่อสร้างอุโมงค์ตั้งแต่ ปตร.แม่ตะมานไปถึงอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 1 (Adit.1) ซึ่งเป็นการก่อสร้างโดยการขุดเจาะแบบระเบิด หรือ Drilling & Blasting : D&B ความยาวอุโมงค์ในช่วงนี้ราว 3.500 กิโลเมตร


ซึ่งวันนี้ถือเป็นความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในการที่อุโมงค์ทั้ง 2 ฝั่งซึ่งมีการขุดเจาะแบบระเบิดเข้าหากันได้ทะลุถึงกันแล้ว หลังจากนี้ในการดำเนินการในส่วนของสัญญานี้จะมีการเร่งรัดการทำงานในขั้นตอนที่ต้องทำต่อๆ ไป ทั้งในทุกสัญญาของโครงการทั้งหมดได้มีการเร่งรัดให้ผู้รับจ้างทุกบริษัทได้เร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งเชียงใหม่และลำพูนโดยเร็ว” 




“ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงมีพระราชดำริโปรดเกล้าให้มีเขื่อนทั้ง 2 แห่ง คือเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายกรมชลประทาน และทีมของสำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ที่จะทำให้การดำเนินโครงการในการจะนำน้ำที่จะไปเติมให้เขื่อนของพระองค์ทั้ง 2 เขื่อน ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อคนเชียงใหม่และลำพูนต่อไป” 




สำหรับอุปสรรคที่เจอมากที่สุดคือ อุปสรรคที่เป็นเรื่องด้านวิศวกรรมและสภาพธรณีวิทยา เมื่อพบก็มีการเร่งรัดดำเนินการแก้ไข โดยที่โครงการมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในส่วนของผู้รับจ้างและคณะที่ปรึกษาโครงการ รวมถึงในส่วนของสำนักงานโครงการก็มีเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปติดตามและทำการแก้ไขในเรื่องปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องสภาพธรณีนั้นเป็นปัญหาที่มองไม่เห็นแต่แรก จึงเป็นปัญหาที่ต้องคอยแก้เมื่อประสบกับปัญหาในแต่ละจุด



ด้าน นายโกศล คงแดง ผู้จัดการโครงการฯ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด กล่าวว่า ไรท์ฯ รับผิดชอบในส่วนสัญญาก่อสร้างช่วงที่ 1 หรือสัญญาที่ 1 ระยะทางก่อสร้างอุโมงค์ราว 13.600 กิโลเมตร โดยงานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ใช้วิธีการขุดเจาะแบบระเบิด หรือ Drilling & Blasting : D&B และการขุดด้วยหัวเจาะ TBM ในวันนี้ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องขุดเจาะและระเบิด ระยะทาง 3.500 กิโลเมตร ในวันนี้ทั้ง 2 ฝากได้เจาะมาทะลุกัน โดยเจาะเข้าทางฝั่ง ปตร.แม่ตะมาน และเจาะจากทางฝั่ง Adit.1 โดยระยะทางฝั่ง ปตร. อยู่ที่ 1+763 และระยะทางฝั่ง Adit.1 อยู่ที่ 1+765 ซึ่งเหลือระยะอยู่ที่ 2.000 เมตร อุโมงค์ก็จะทะลุหากัน




“สำหรับวันนี้เป็นวันแห่งความสำเร็จวันหนึ่งในการขุดเจาะแบบระเบิดที่จะทำให้อุโมงค์ที่ขุดเจาะมาจาก 2 ฝากทะลุกันที่ กม.1+600 ซึ่งงานขุดเจาะแบบระเบิดพบปัญหาใหญ่ 2 ครั้ง คือ การเจาะไปเจอสายน้ำในโพรงถ้ำที่มีปริมาณมากถึง 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร ได้มีการเสริมเครื่องปั้มน้ำเพื่อสูบน้ำออกแล้วทำการแก้โขโดยใช้ซีเมนต์เก้าส์อุดรอยรั่วก็แก้ไขได้สำเร็จ อีกครั้งเป็นการเจอหินที่ไม่มีคุณภาพเป็นระยะทางกว่า 100 เมตร ทำการแก้ไขตามที่แบบกำหนดไว้ก็สำเร็จด้วยดี จุดนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหินที่ไม่มีคุณภาพอาจร่วงและเป็นอันตรายต่อพนักงานที่เข้าไปทำงานได้ อีกปัญหาที่พบในช่วงการขุดเจาะโดยหัวเจาะ TBM ซึ่งพบโพรงถ้ำขนาดใหญ่ ก็ได้มีการแก้ไขและเป็นไปได้ด้วยดีเช่นกัน” วิศวกรผู้ควบคุมงาน คณะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น