ชาวเชียงใหม่ตื่นเต้นแห่ชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกแบบ new normal ชาวที่อุทยานดาราศาสตร์ ประชาชนผู้ปกครองต่างพาบุตรหลานหลังจากเลิกเรียนแล้วมาเที่ยวชมกิจกรรม

เด็กๆชาวเชียงใหม่ตื่นเต้นดีใจผู้ปกครองพาเฝ้าชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกแบบnewnormal
ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 

บรรยากาศตั้งแต่ช่วงหัวค่ำมีประชาชนชาวเชียงใหม่รวมถึงผู้ปกครองต่างพาบุตรหลานหลังจากเลิกเรียนมาเฝ้ารอชมปรากฎการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปีเป็นจำนวนมากและอังคารที่ 21 ก.ค. พร้อมเปิดให้ชมดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปีด้วย 

โดยก่อนเข้าร่วมกิจกรรมนั้น ทุกคนที่เดินทางมาถึงจะต้องถูกตรวจวัดอุณหภูมิ และสแกนคิวอาร์โค้ด แอปพลิเคชั่นไทยชนะ หรือลงชื่อ โดยจะมีประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมแบบออนไลน์ และผู้ที่ทราบข่าวและเดินทางมาร่วม 

ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ การเล่นเกมร่วมลุ้นของรางวัล เปิดท้องฟ้าจำลองให้เข้าชม 3 รอบ มีผู้ปกครอง นำบุตรหลาน รวมถึงนักเรียน นักศึกษาเดินทางมาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก แม้ว่าในวันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าช้า ซึ่งกว่าจะพบเห็นดาวพฤหัสบดี ก็เป็นเวลาประมาณ 19.30 น. โดยทางอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ได้เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมจนถึงเวลา 22.00 น.

ทั้งนี้ทางด้านนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่าวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) โดยมีโลกคั่นกลางเรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร 

เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจะมองเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สุกสว่างมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ -2.8 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) หากฟ้าใสไร้ฝนสังเกตได้ด้วยตาเปล่านานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเเก่การสังเกตการณ์อย่างยิ่ง  

เมื่อมองดูดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะสามารถสังเกตแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี ที่เรียกว่า ดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนีมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสามารถมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน ในช่วงเวลาประมาณ 22.00-01.00 น. 

ขณะที่ทางนายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คืนดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์สว่างปรากฏอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดีอีกด้วย ซึ่งถัดจากนี้อีกหนึ่งสัปดาห์ ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้อีกด้วย 

ซึ่งทาง สดร. เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 และ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ 
1. เชียงใหม่ ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 
2.นครราชสีมา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา 
3. ฉะเชิงเทรา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา และ 
4. สงขลา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. 

และเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบ New Normal ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับช่วงกลางปีไปจนถึงปลายปี 2563 ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า จนกระทั่งช่วงระหว่างวันที่ 20-23 ธันวาคม 2563 ดาวเคราะห์ทั้งสองจะปรากฏใกล้กันมาที่สุดในรอบ 397 ปี ห่างเพียง 0.1 องศา หากดูด้วยตาเปล่าจะมองเห็นเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน เรียกว่า ปรากฏการณ์ “The Great Conjunction” และถ้ามองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า จะเห็นดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน ถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าติดตามชมเป็นอย่างมาก


ไม่มีความคิดเห็น