เชียงใหม่เปิดศูนย์แก้ปัญหาหมอกควันพบสถิติผู้เสียชีวิตภาคเหนือเพิ่มขึ้น


ที่จังหวัดเชียงใหม่นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่



องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานทหาร มทบ.ที่ 33 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือที่ 1 (เชียงใหม่) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว (ผ่อดีดี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม





โดยภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ การนำเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบค่าความร้อน การใช้โดรนที่ดัดแปลงมาแบบพิเศษ เพื่อให้บินในระยะที่ไกลขึ้น ใช้ระบบสมองกลแบบ
Ai มาใช้ในการประมวลผลและส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ สิ่งประดิษฐ์เครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ PM2.5 โดยมีระบบเปิด-ปิด เครื่องฟอกอากาศเองอัตโนมัติหากค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และนิทรรศการให้ความรู้ การป้องกันเรื่องของมลพิษทางอากาศ



ด้วยปัจจุบันสถานการณ์หมอกควันและมลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ประการหนึ่ง ได้แก่ การเผาในพื้นที่ป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และการเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง รวมถึงปัญหาไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก
PM2.5 สะสมสูงเกินมาตรฐาน



ซึ่งสถานกาณณ์หมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงต้นปี 2562 เกิดวิกฤตการณ์ที่รุนแรงมาก กระทบต่อคุณภาพชีวิตและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ จากข้อมูลของทาง รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ทราบว่า ปัญหาด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก หากเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ภาคเหนือ จะทำให้คนในภาคเหนือมีอายุสั้นลง 3 - 5 ปี และในปี 2561 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่อยู่ในอันดับ 4 ของประเทศในด้านปัญหามลพิษ




สำหรับอัตราการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก จำนนวน 9 ล้านกว่าคน ที่เสียชีวิตจากปัญหาด้านมลพิษ ส่วนประเทศไทยอัตราการเสียชีวิต 38,410 ราย คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ และในรอบ 14 ปี ตั้งแต่ปี 2001 - 2014 พบว่าภาคเหนือ มีผู้เสียชีวิตจากปัญหาด้านมลพิษมากที่สุด และเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก
PM2.5 เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ก็จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.6 เปอร์เซ็นต์ และในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดไฟป่าไหม้ดอยเชียงดาว เสียหายเยอะที่สุด และไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ก็พบว่ามีอัตราการตายเกิดขึ้นประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ จากค่าฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น โดยโรคที่เกิดขึ้นพบ 3 โรคหลักคือ ถุงลมโป่งพอง, ปอดอักเสบติดเชื้อและหัวใจวาย






สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทุกคนให้เข้ามามีบทบาทในการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ การสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่ ได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ โดยล่าสุดได้มีการนำแอปพลิเคชั่น ผ่อดีดี (PODD) นำมาใช้เพื่อให้เกิดการรายงานเรื่องของสถานการณ์แต่ละพื้นที่ และนำการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน มาใช้ในการรายงานและแก้ไขปัญหาในเชิงลึกต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น